กาแฟดอยช้าง
ชื่อ "กาแฟดอยช้าง" แม้จะไม่เป็นที่คุ้นหูนักสำหรับนักจิบกาแฟชาวไทยทั่วไป แต่ในแวดวงคอกาแฟในต่างประเทศแล้ว "กาแฟดอยช้าง" ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของคนไทยและเป็น "อีโก้" (ในที่นี้ ขอหมายถึงความภาคภูมิใจ) ของชาวอีก้อกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในจังหวัดเหนือสุดของประเทศ ผู้ร่วมกันรังสรรค์กาแฟรสเลิศประดับเวทีกาแฟโลกไว้ได้เป็นผลสำเร็จ
ภูเขาดอยช้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองของจังหวัดเชียงรายไปประมาณ 40 นาที และจากเชิงเขาขึ้นดอย หากไปทางลัดจะใช้เวลาอีกเพียง 1 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น แม้หนทางไต่ขึ้นดอยจะค่อนข้างขรุขระอยู่สักหน่อย ในวันที่คณะของผู้เขียนเดินทางไปสัมภาษณ์กาแฟดอยช้างนั้น "อาเดล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งกิจการได้ให้ความอนุเคราะห์เดินทางมารับพวกเราขึ้นดอย จากร้านกาแฟดอยช้างเล็กๆ ในตัวเมือง ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามเป็นธรรมชาติ จากฝีมือและไอเดียของสมาชิกผู้ปลูกกาแฟดอยช้างเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาปนิกให้สิ้นเปลือง
กว่า 2 ชั่วโมงในรถกระบะระหว่างทางขึ้นดอย อาเดลเล่าถึงความเป็นมาของกาแฟดอยช้าง รวมทั้งการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ร่วมกันของชาวอาข่าหรืออีก้อบนดอย ซึ่งรวมถึงอาเดลเอง กว่าจะมาเป็นกาแฟดอยช้างที่ทำชื่อเสียงระดับโลกให้แก่ชุมชนชาวอีก้อและประเทศไทยในปัจจุบัน
"ชาวดอยช้างเริ่มปลูกกาแฟมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2526 ก็ปลูกกันมาเรื่อยๆ แล้วขายให้พ่อค้าคนกลาง แม้ราคา ไม่สู้จะดีนัก แต่ก็ทำๆ กันไป แต่เมื่อกว่า 8 ปีที่แล้ว ชาวบ้านถูกพ่อค้าที่มารับซื้อกาแฟถึงบนดอยกดราคาอย่างหนัก กิโลหนึ่งให้ราคาแค่ 17-20 บาท ชาวบ้านต้องทนขายขาดทุน"
"ชาวบ้านเองซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าอีก้อ และไม่มีบัตรประชาชนในขณะนั้น ไม่สามารถจะลงจากดอยมาขายกาแฟเองได้ เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับในฐานที่ไม่มีบัตร (ประชาชน) เพราะถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย ผมเองในฐานะผู้ใหญ่บ้านจึงลงจากดอยมาหาพี่วิชา เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีกับไร่กาแฟของชาวบ้านเกือบ 600 ไร่บนดอย และทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้"
"พี่วิชา" หรือวิชา พรหมยงค์ ชายร่างเล็ก ผมเปียท้ายทอย คือประธานบริษัทกาแฟดอยช้าง และเป็นหนึ่งในผู้ร่วม บุกเบิกก่อตั้งกิจการกาแฟดอยช้างมาตั้งแต่แรกเริ่ม วิชารอต้อนรับคณะของผู้เขียนอยู่บนดอย พร้อมกับ "มิกะ" หรือ "หมี่ก๊า" สาวอีก้อหน้าตาใจดี น้องสาวของอาเดล ผู้ซึ่งผู้เขียนเริ่มติดต่อด้วยเพื่อขอสัมภาษณ์เรื่องกิจการของกาแฟดอยช้างและโครงการ แฟร์เทรดที่ทางบริษัทกำลังสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกอยู่
วิชาเล่าว่า หลังจากที่อาเดลเข้ามาปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ในเรื่องการถูกกดราคารับซื้อกาแฟแล้ว ตนได้ใช้เวลากว่า 7 เดือนในการศึกษาเรื่องกาแฟ จนได้ข้อสรุปว่า การจะหลีกเลี่ยงการถูกกดราคานั้น ชาวบ้านต้องเพิ่มกำลังผลิตเป็นสองถึงสามพันไร่ เพื่อสร้างปริมาณของกาแฟให้มากพอที่จะมีอำนาจไปต่อรองกับพ่อค้า นอกจากนี้คุณภาพของกาแฟก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นกระบวน การปรับเปลี่ยนการผลิตและควบคุมคุณภาพของเมล็ดกาแฟ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านและชุมชนดอยช้าง จึงได้เริ่มขึ้น
ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า ทำจากเล็กไปใหญ่ จากในไปสู่นอก
กาแฟดอยช้างเกิดจากชาวเขา ที่เชื่อในแนวทางของในหลวง ทำตามวิถีชีวิตของตนเอง ทำด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ ที่จะให้ผลิตผลของตนเองออกมาดี ไม่ทำเกินกำลัง จากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดี จึงออกไปสู่ตลาดภายนอกได้ด้วยตัวของสินค้าเอง จากชุมชนของชาวเขา สินค้าออกไปในตลาดทั่วประเทศ จากในชุมชนออกไปนอกชุมชน และส่งออกไปต่างประเทศด้วย
..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น